เริ่มสังเกตเห็นว่ามีการกลับมาใช้คำว่า Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) เยอะขึ้น แต่ด้วยความซ้อนทับกันในเนื้องานระหว่าง Content Creator และ Influencer เลยเป็นข้อถกเถียงกันว่าระหว่าง Content Creator และ Influencer เหมือนหรือต่างกันยังไง? เพราะงั้นวันนี้ผมเลยอยากมาแชร์ทั้ง ความเหมือนและความแตกต่างของ Content Creator และ Influencer จากมุมมองของคนเป็น Content Creator คนนึงครับ
Disclaimer : บทความนี้เป็นบทความจากมุมมองและประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมเอง ซึ่งอาจแตกต่างจากมุมมองของผู้อ่านออกไป หรือถ้ายาวไป สามารถข้ามไปอ่านที่ส่วนสรุปได้เลยครับ
Content Creator และ Influencer คืออะไร
คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ (Content Creator) คือ นักสร้างเนื้อหา หรือทับศัพท์ว่า คอนเทนต์(Content) โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นคอนเทนต์รูปแบบไหนหรือบนแพลตฟอร์มใด
Influencer คือ ผู้มีอิทธิพลต่อการคิดการตัดสินใจ ซึ่งก็แปลตรงตัวตามภาษาอังกฤษเลยครับ คำว่า influence แปลว่ามีอิทธิพล การโน้มน้าวหรือชักจูง
แต่ Influencer ก็จะมีการแบ่งย่อยลงไปอีกหลายแบบ ส่วนใหญ่จะแบ่งตามจำนวนผู้ติดตาม (Follower) เช่น
- Micro Influencer หมายถึง Influencer ที่มีผู้ติดตาม 5,000 – 100,000 คน
- Nano Influencer ก็มักหมายถึง Influencer ที่มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน เป็นต้น
จริง ๆ ก่อนที่คำว่า Content Creator จะบูมขึ้นมา เคยมีการตีกันระหว่าง Influencer และ KOL ด้วย แต่เอาไว้ค่อยมาคุยเรื่องนั้นอีกทีนะฮะ เดี๋ยวจะยาว ฮ่า ๆ
แต่ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Content Creator สามารถตามไปอ่านต่อได้ที่บทความแนะนำคนที่ อยากเป็น Content Creator บทความนี้ครับ
Content Creator และ Influencer เหมือนหรือต่างกันยังไง
ระหว่าง Content Creator และ Influencer มีทั้งจุดเหมือนและจุดต่างกัน ซึ่งผมขอแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ
- การได้มาซึ่งคอนเทนต์ (Content Acquisition)
- เป้าหมายการทำคอนเทนต์ (Goals)
- กลุ่มเป้าหมาย (Audience)
- ช่องทางการสื่อสาร (Channel)
ซึ่งผมได้สรุปความเหมือนและความต่างระหว่าง Content Creator และ Influencer เป็น Infographic ด้านล่างนี้ครับ
การได้มาซึ่งคอนเทนต์ (Content Acquisition)
การได้มาซึ่งคอนเทนต์ของ Content Creator และ Influencer จะค่อนข้างต่างกัน หรือถ้าในภาษาทาง Content Marketing จะเรียกว่า Content Creation และ Content Curation
Content Creator : Content Creation
Content Creator จะเน้นสร้างคอนเทนต์ต้นฉบับด้วยตัวเอง (Original Content) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการทาง Content Marketing ที่เราเรียกกันว่า Content Creation
ซึ่งจะมีวิธีการสร้างคอนเทนต์ก็จะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของ Content Creator แต่ละคน เช่น คอนเทนต์ ครีเตอร์ที่มีประสบการณ์ด้านการเขียน ก็จะเน้นสร้างคอนเทนต์แบบเขียนเป็นหลัก หรือคอนเทนต์ ครีเตอร์ที่มีประสบการณ์ด้านโฆษณา ก็จะแฝงความครีเอทีฟในแง่การโฆษณาเข้าไปด้วย
อย่างผมเองเป็น Sneaker Content Creator ทำ Sneaker Content หรือคอนเทนต์รองเท้า สนีกเกอร์ เป็นหลัก แต่ผมก็ชอบทำคอนเทนต์ด้วยตัวเองมากกว่า เพราะสุดท้ายมันจะเป็น Original Content ของเราเอง ไม่ค่อยเหมือนใคร และส่งผลดีสำหรับ Content Creator ที่มีเว็บไซต์อย่างผมด้วย
Influencer : Content Curation
คอนเทนต์จาก Influencer ส่วนใหญ่จะไม่เน้นการสร้างคอนเทนต์ต้นฉบับ แต่จะใช้คอนเทนต์ที่มาจากแบรนด์หรือผู้ว่าจ้างมากกว่า ซึ่งในภาษา Content Marketing ที่เราเรียกกันว่า Content Curation
เราอาจสังเกตคอนเทนต์จาก Influencer ได้ไม่ยาก เช่น คอนเทนต์มีรูปแบบเฉพาะ ความคล้ายคลึงกัน อาจมีการเปลี่ยนข้อความหรือรูปบ้างเล็กน้อย แต่จะมีบางจุดยังเป็น Pattern เดียวกันอยู่
ซึ่งถ้าใครเคยใช้งานแพลตฟอร์มจ้างงาน Influencer จะเห็นภาพมากขึ้น (อย่างเราก็ไปสมัครมาก่อน แต่ไม่ค่อยมีคนจ้างเท่าไร ฮ่า ๆ) ผู้ว่าจ้างจะมีคอนเทนต์สำเร็จรูป หรือคำสั่งบางอย่างตายตัวอยู่แล้ว ว่าจะให้ Influencer ทำแบบไหน อย่างไร เมื่อไร เพราะงั้นคนที่เป็น Influencer แทบจะไม่ต้องสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเองเหมือน Content Creator
เป้าหมายของการทำคอนเทนต์ (Goals)
พอพูดถึงเป้าหมายในการทำคอนเทนต์ เรามักจะนึกถึงแต่เป้าหมายในแง่ธุรกิจ ทั้งที่จริง แล้วเป้าหมายในการทำคอนเทนต์ของแต่ละคนต่างกัน รวมถึง Content Creator และ Influencer ด้วย
เป้าหมายการทำคอนเทนต์ของ Content Creator มักอยู่ในเชิง “การสร้างสรรค์คอนเทนต์” เช่น แสดงฝีมือของ Content Creator คนนั้น ๆ การสร้างการรับรู้/สร้างความเข้าใจ ผ่านคอนเทนต์ที่สร้างขึ้น ซึ่งจะต่างกับ Influencer
Influencer หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด (ชื่อก็ค่อนข้างชัดเจนในตัวเอง) เป้าหมายการทำคอนเทนต์ของ Influencer มักอยู่ในเชิง “การโน้มน้าวใจในแง่ธุรกิจ” มากกว่า Content Creator เพื่อโน้มน้าวคนดู เช่น โน้มน้าวให้เกิดการซื้อ-กระตุ้นยอดขาย โน้มน้าวให้คนอยากรู้จักแบรนด์มากขึ้น เป็นต้น
พูดง่าย ๆ ว่า Content Creator มักโฟกัสที่การสร้างสรรค์คอนเทนต์ ส่วน Influencer มักโฟกัสผลทางธุรกิจมากกว่า
กลุ่มเป้าหมาย (Audience)
กลุ่มเป้าหมายในหัวข้อนี้จะพูดในแง่ ขนาดของกลุ่มเป้าหมาย (Audience Size) และการเข้าถึง(Reach) เป็นหลัก ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักกการ ผู้ที่ชนะในหัวข้อนี้ คือ Influencer เพราะกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างกว้างกว่า Content Creator
Influencer กลุ่มเป้าหมายกว้างกว่า
อย่างที่บอกไปว่าประเภทของ Influencer มักอิงตามจำนวนของผู้ติดตาม (Follower) นั่นหมายความว่า ขนาดของกลุ่มเป้าหมายและการเข้าถึงจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามไปด้วย
Content Creator กลุ่มเป้าหมาย(อาจ)น้อยกว่า
Content Creator ไม่ได้ถูกแบ่งจากจำนวนของผู้ติดตามเหมือน Influencer แต่คอนเทนต์ครีเตอร์เน้นทักษะการสร้างสรรค์คอนเทนต์มากกว่า (โฟกัสการทำคอนเทนต์มากกว่า) ทำให้กลุ่มเป้าหมาย จำนวนของผู้ติดตามอาจน้อยกว่า Influencer
แม้ในปัจจุบัน หลายธุรกิจยังเลือกพิจารณาจ้าง-ไม่จ้างงาน จากจำนวนผู้ติดตามอยู่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Influencer ถึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ติดตามมากกว่าคอนเทนต์ที่ทำ ซึ่งเรื่องจำนวนผู้ติดตามยังคงเป็นเรื่องถกเถียงไม่จบสิ้นระหว่างคนทำคอนเทนต์และแง่ธุรกิจ
ช่องทางการสื่อสาร (Channel)
ปัจจุบันช่องทางการสื่อสารของทั้ง Content Creator และ Influencer เหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้วช่องทางการสื่อสารยังไม่สำคัญเท่ากลุ่มเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทักษะความชำนาญในการใช้ช่องทางสื่อสารของ Content Creator และ Influencer แต่ละคน เพราะช่องทางการสื่อสารแต่ละแบบมีความพิเศษต่างกัน ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายในช่องทางนั้นต่างกันไปด้วย
อย่างที่ผมได้อ่านข้อมูลรายงาน Digital 2023 Global Overview ซึ่งมีพูดถึงช่องทางฮิตต่าง ๆ เช่น
- Tiktok เน้นวิดีโอสั้น กระชับ กลุ่มเป้าหมายที่มีมากสุด คือ ผู้หญิง ในช่วงอายุ 18 – 24 ปี
- YouTube เน้นวิดีโอแบบยาว กลุ่มเป้าหมายที่มีมากสุด คือ ผู้ชาย ในช่วงอายุ 25 – 34 ปี
เอาไว้เดี๋ยวผมสรุป Digital 2023 Global Overview เฉพาะส่วนที่ผมคิดว่าน่าต้องรู้เอาไว้มาให้ได้อ่านกันอีกทีนะครับ
สรุป Content Creator vs Influencer ต่างกันไหม
ในยุคปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นได้ทั้ง Content Creator และ Influencer ในเวลาเดียวกัน เพียงแต่ Content Creator จะเน้นสร้างคอนเทนต์แบบ Original (คอนเทนต์ต้นฉบับของตัวเอง) ส่วน Influencer จะใช้คอนเทนต์จากแบรนด์หรือผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นคอนเทนต์สำเร็จรูป (ขอแปะ Infographic สรุปไว้อีกรอบ)
Content Creator ที่มีผู้ติดตามเยอะ ๆ คอนเทนต์สามารถสร้าง impact ได้มาก ๆ ก็สามารถเป็นทั้ง Content Creator และ Influencer พร้อมกันได้ เช่น คุณบาส Go went GO ที่เป็นทั้ง Content Creator เพจท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็มีคนติดตามหลายแสน ก็สามารถเป็น Influencer ไปในตัวด้วย หรือคุณกอล์ฟ Golf มาเยือน ที่เป็นทั้ง Content Creator และ Influencer ไปพร้อมกัน
เชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่อ่านน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า Content Creator vs Influencer เหมือนหรือต่างกันยังไง? แล้วเพื่อน ๆ ล่ะครับ อยากเป็น Content Creator, Influencer หรือเป็นทั้งสองอย่างเลยดี ลองมาแชร์กันนะครับ ^^