เวลาเราดูคลิปรีวิวรองเท้า/สนีกเกอร์ต่าง ๆ เพื่อน ๆ อาจเคยได้ยิน เช่น Upper ของรองเท้าจะเป็นวัสดุ…. Insole คู่นี้จะมีสัญลักษณ์ของ…. Outsole จะค่อนข้างยึดเกาะได้ดี… และคำอื่น ๆ ซึ่งสำหรับ Sneakerhead หรือคนชอบรองเท้ามือใหม่(อย่างผม) ก็ต้องยอมรับครับว่า บางทีแอบงงเหมือนกันว่า Upper, Insole, Outsole ฯลฯ มันคือส่วนไหนของรองเท้ากันนะ? (ถ้ากรณีเค้าไม่ได้ชี้บอก)
ผมเลยอยากรวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับสนีกเกอร์ ซึ่งในบทความนี้จะเป็น 7 คำศัพท์หลักเกี่ยวกับ “ส่วนประกอบรองเท้าผ้าใบ/สนีกเกอร์ (Sneakers Anatomy)” ที่คนใส่สนีกเกอร์ควรรู้ เพราะมันจะช่วยให้เราเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะเวลาดูรีวิวรองเท้าของท่านต่าง ๆ ครับ ^^
Disclaimer : บางต้องบอกก่อนว่า ส่วนประกอบรองเท้าผ้าใบ/สนีกเกอร์ (Sneakers Anatomy) ของแต่ละแบรนด์ บางทีตำแหน่งเดียวกันก็เรียกไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากการเรียกในภาษาอังกฤษแบบ USA / UK ที่ต่างกัน แต่มันจะมีจุดหลักทั้ง 7 ที่เรียกเหมือนกันอยู่ จึงเป็นที่มาของ 7 คำศัพท์ในบทความนี้ครับ
ส่วนประกอบรองเท้าผ้าใบ/สนีกเกอร์ 7 ส่วนหลัก
ส่วนประกอบรองเท้าทั้ง 7 นี้ ผมขอเรียงตามความคุ้นชินเวลาเราได้ยินคนพูดบ่อย ๆ เพื่อน ๆ จะได้จำง่ายขึ้นนะครับ
1. Upper : ส่วนบนของรองเท้า
Upper (อ่านว่า อัป-เปอร์) คือ พื้นที่ส่วนที่ด้านบนของตัวรองเท้าทั้งหมด สิ้นสุดที่พื้นส่วนกลาง (Midsole) หรือจำแง่าย ๆ Up = ด้านบน ตามคำแปลภาษาอังกฤษเลยครับ
Upper หรือ ส่วนบนของรองเท้า อาจเรียกว่าเป็นจุดหลักของตัวรองเท้าเลยก็ว่าได้ครับ เพราะเป็นจุดรวมของทั้งงานดีไซน์รองเท้า วัสดุที่ใช้ทำรองเท้า เนื้อผ้าที่ประกอบเป็นตัวรองเท้าขึ้นมา ฯลฯ และเป็นจุดที่คนมองเห็นได้ง่ายที่สุดในบรรดาส่วนประกอบรองเท้าทั้ง 7
ตัวอย่าง Upper ของ 2 คู่นี้ จะเห็นถึงลวดลาย สี และวัสดุประเภทหนังกลับบนตัวรองเท้าเลย
Sneaker คู่แรกนี้ คือ ASICS GEL-KAYANO 14 ซึ่งผมมีรีวิวเอาไว้แล้ว เผื่อใครสนใจอยากได้หรืออยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปตามต่อได้ที่บทความนี้ครับ
Sneaker คู่ที่สอง คือ New Balance 2002R สนีกเกอร์เริ่มต้นของคนชอบ New Balance ซึ่งผมก็มีรีวิวไว้เหมือนกันครับ ไปตามต่อได้ที่บทความนี้
2. Insole : แผ่นรองเท้าด้านใน
Insole (อ่านว่า อิน-โซล) คือ แผ่นรองเท้าที่อยู่ด้านในตัวรองเท้าอีกที ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นยากมากที่สุด (เรียกว่าแทบไม่เห็นเลยน่าจะเหมาะกว่า) ถ้าไม่ได้เอาออกมาหรือมองใกล้
หน้าที่หลักของ Insole คือ รองรับน้ำหนัก และรองรับเหงื่อ/ความอับชิ้นจากการสวมใส่ ดังนั้น บางแบรนด์อาจมีเทคโนโลยีพิเศษที่ทำให้ Insole กระจายแรงกระจายน้ำหนักได้ ให้รู้สึกนุ่มสบาย เหมือนเบาะนวมรองอีกชั้นนึง และยังสามารถดูดซับความอับชื้น กลิ่นอับ ฯลฯ
เท่าที่ผมรู้ตอนนี้ คือ มีการผลิต Insole แยกขายออกมาด้วย บางอันก็เป็นของแบรนด์เอง หรือบางอันก็เป็นแผ่นพิเศษ ใส่เพิ่มทับแผ่นเดิมอีกทีนึง ซึ่งก็แล้วแต่คนชอบเลยครับว่าอยากได้ Insole แบบไหน
เกร็ดเล็กน้อย : Insole คือ จุดที่ควรทำความสะอาดมากที่สุด
Insole หรือพื้น/แผ่นรองเท้า อย่างที่ผมบอกไปว่าเป็นทั้งรองรับน้ำหนักและความอับชื้น ดังนั้น Insole จะเป็นจุดศูนย์รวมของความไม่สะอาดต่าง ๆ ทั้งในเรื่องกลิ่น ความชิ้น และคราบสกปรกที่มาจากเท้าเราเวลาใส่อีกที
ในแง่การดูแลความสะอาดของรองเท้า หากรองเท้าที่เพื่อน ๆ มี สามารถถอด Insole ออกมาได้ แนะนำให้ถอดทำความสะอาดแบบเน้น ๆ เพื่อสุขอนามัยของทั้งเท้าเราและตัวรองเท้านะครับ ^^
3. Outsole : พื้นรองเท้าด้านนอก
Outsole (อ่านว่า เอาต์-โซล) คือ พื้นรองเท้าด้านนอกสุด จุดที่กระทบกับพื้นโลกมากที่สุด เป็นส่วนที่จะช่วยยึดเกาะเวลาเราใส่รองเท้าเดินหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
หน้าที่หลักของ Outsole หนีไม่พื้นเรื่องการยึดเกาะพื้น ความหนึบต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้อาจซีเรียสมากในรองเท้าสายกีฬา เช่น บาสเก็ตบอล ที่ต้องยึดเกาะพื้นดี ๆ หน่อย
ยิ่งเราใช้งานรองเท้ามากเท่าไร Outsole พื้นรองเท้าด้านนอกก็จะยิ่งบางลง หรือภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า พื้นไป เปรียบเหมือนส่วนยางรถที่ดอกยางหายนั่นแหละครับ
แน่นอนว่าส่วน Outsole เป็นส่วนหนังหน้าไฟ ที่พร้อมไปตลอดเวลาทุกครั้งที่เราเอาสนีกเกอร์ไปใส่เดิน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องยากในการรักษาดูแลส่วนนี้ (เป็นธรรมชาติของการใช้งาน)
แต่ก็มีบางวิธีพอช่วยได้ เช่น การติดแผ่นรองพื้นรองเท้า หรือที่เรียกว่า การติด Sole ซึ่งก็ต้องแลกมากกับประเสิทธิภาพการยึดเกาะที่ลดลงตามไปด้วยครับ
ผมเคยมีติด Sole Yeezy อยู่ช่วงนึง แต่สุดท้ายแล้วแกะออก เพราะรู้สึกว่าจะลื่นล้มมากกว่าเวลาเดินครับ ฮ่า ๆ
4. Midsole : พื้นที่ส่วนกลางของรองเท้า
Midsole (อ่านว่า มิด-โซล) คือ พื้นที่ที่อยู่ตรงกลาง ระหว่าง Upper (ส่วนบนของรองเท้า) และ Outsole (พื้นรองเท้า)
หน้าที่ของ Midsole จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีรองเท้ามากกว่า ซึ่งฟังก์ชั่นการทำงานของเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเทคโนโลยีที่ทำให้ใส่สบาย นุ่ม เบา เป็นต้น ซึ่ง จะฝังเอาไว้ในส่วน Midsole เลยครับ ตัวอย่างเช่น
- ASICS ใส่ เทคโนโลยี GEL เห็นบ่อยในสนีกเกอร์รุ่นที่ขึ้นต้นด้วย GEL ต่าง ๆ อย่าง ASICS GEL-KAYANO 14 เป็นต้น
- New Balance ใส่ เทคโนโลยี N-Ergy / ABZORB อย่าง New Balance 2002R
- Adidas ใส่ เทคโนโลยี BOOST ในรุ่น UltraBOOST ต่าง ๆ
ถัดจากตรงนี้ จะส่วนประกอบย่อย ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับ Upper (ส่วนบนของรองเท้า) ซึ่งในเพื่อน ๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูในแบบภาษาอังกฤษสักเท่าไร แต่ก็ควรรู้ไว้ครับ
5. Laces : เชือกรองเท้า
Laces (อ่านว่า เลซ / แลซ แล้วแต่สำเนียง) คือ เชือกรองเท้า(Shoelace) นั่นแหละครับ ใช้สำหรับผูกรองเท้าให้แน่นขึ้น กระชับขึ้น
6. Toe box : ส่วนหุ้มหัวรองเท้า
Toe box (อ่านว่า โท-บ็อกซ์) คือ ส่วนหุ้มหัวรองเท้า ตรงกับหน้าเท้าบริเวณที่นิ้วเท้าเราอยู่เลยครับ
ซึ่งจุดนี้หลายแบรนด์มักจะเลือกเจาะรูเล็ก ๆ เอาไว้ระบายอากาศจากเท้าด้านในให้ออกมาข้างนอกได้ หรือบางแบรนด์อาจเลือกใช้ผ้าตาข่าย เผื่อให้ความโปร่ง โล่งสบาย ไม่อึดอัดเวลาใส่รองเท้า
ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือ Toe box ของ New Balance 2002R และ ASICS GEL-Kayano 14
7. Heel counter: ส่วนหุ้มส้นเท้า
Heel counter (อ่านว่า ฮีล-เคาต์เตอร์) คือ ส่วนหุ้มส้นเท้าของรองเท้า ช่วยเพิ่มความสมดุล ความกระชับในการสวมใส่รองเท้ามากขึ้น
Heel counter ส่วนใหญ่จะค่อนข้างแข็ง อาจเพราะต้องการให้เกิดความมั่นคงสมดุล แทบไม่เคยเห็น Heel counter ที่ไม่แข็งเลย (ยกเว้นใส่มานานแล้วพังครับ ฮ่า ๆ)
และนี่คือ 7 ส่วนประกอบหลักของรองเท้าผ้าใบ/สนีกเกอร์ (Sneakers Anatomy) ที่คนใส่สนีกเกอร์ควรรู้เอาไว้ เพื่อจะได้ไม่งงเวลาเค้าพูดทับศัพท์กันนะครับ
แต่อย่างที่บอกไปว่า แต่ละแบรนด์ต่างก็มีรายละเอียดในการเรียกตำแหน่งของตัวรองเท้าตัวเองต่างกันออกไป ซึ่งไม่ผิดที่บางตำแหน่งอาจเรียกไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ เราอาจดูจากรายละเอียดรองเท้าของแต่ละแบรนด์ก็ได้ครับนะครับ
ใครมีรายละเอียดตรงจรดไหนอีก มาแชร์กันได้นะครับ ^^
ข้อมูลเพิ่มเติม :
- What Are the Parts of a Shoe? : https://www.nike.com/a/parts-of-shoe-anatomy
- What Is ASICS’ GEL™ Technology? | ASICS : https://www.asics.com/us/en-us/blog/what-is-asics-gel-technology.html
- What is ABZORB? : https://support.newbalance.com/s/article/What-is-ABZORB
- KNOW YOUR TECH: New Balance Abzorb : https://www.complex.com/sneakers/2013/07/know-your-tech-new-balance-abzorb
- BOOST คืออะไร : https://www.adidas.co.th/en/blog/373504-what-is-boost